ทันตแพทย์ จัดสัมมนา มุ่งสู่การเป็นโรงเรียนทันตแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ฝ่าวิกฤต Covid-19

53 ครั้ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การมุ่งสู่โรงเรียนทันตแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน (ฝ่าวิกฤต Covid-19 เพื่อชีวิต ดี๊ดีย์)” ภายใต้โครงการสัมมนาคณาจารย์ ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 2 และ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมนิธิภาวีศรีสุข ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ โดยมีคณาจารย์เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน

โดยเริ่มจากพิธีเปิดการสัมมนาโดย รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ และบรรยายพิเศษจากวิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทพ.อชิรวุธ สุพรรณเภสัช รองคณบดีฝ่ายการศึกษา ผศ.ดร.ทพ.ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษา และวิเทศสัมพันธ์ ผศ.ทพญ. ภัทรมน รัตนาพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลทันตกรรมผศ.ทพญ.กุลวรา ธาริยะ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา ผศ.ดร.ทพญ.จันทร์ธิดา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม จากสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ ผศ.ดร.ทพญ.ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร จากแขนงวิชาทันตสาธารณสุข รศ.ดร.ทพ.จรินทร์ ปภังกรกิจ จากแขนงวิชาชีววิทยาช่องปาก และอ.ดร.ทพ.ศุภวิชญ์ หมอกมืด ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ โดยภายในงานจัดให้มีการตั้งจุดคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน พร้อมเจลล้างมือฆ่าเชื้อ และกำหนดจุดที่นั่งในการสัมมนาโดยเว้นระยะการนั่งให้ห่างตามนโยบาย Social distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) ต้านภัย Covid-19 อีกด้วย

รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ กล่าวว่า “การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้คณาจารย์ได้รับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์การจบการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงนักศึกษาจาก Dalian medical university ในช่วงวิกฤต Covid-19 นอกจากนั้นได้ทราบถึงการจัดการเรียนการสอน แบบบรรยาย ปฏิบัติการ และคลินิก พร้อมกับการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Table of Specifications ในการออกข้อสอบใบประกอบวิชาชีพ รวมทั้งการออกแบบเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนทั้งภาควิทยาศาสตร์พื้นฐานและภาคคลินิกให้มีความครอบคลุม ทันสมัย และเอื้อต่อการสอบใบประกอบวิชาชีพทางทันตกรรม โดยการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคการใช้ Zoom meeting/ Webina/ Google classroom/ Facebook live/ Smart classroom อีกด้วย”

แม้จะเจอกับสถานการณ์วิกฤตของโรคระบาดที่เกิดขึ้น คณะทันตแพทยศาสตร์ ยังคงเดินหน้าในการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ระบบออนไลน์หรือสื่อออนไลน์ให้สัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ที่พึงประสงค์รับใช้สังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต